พ่อแม่หลายคนผิดพลาดเพราะเริ่มสอนเรื่องการออมให้ลูกๆ ช้าเกินไป
ในปัจจุบัน ผู้เขียนมีอายุ 18 ปี มีเงินออมเป็นของตัวเอง และสามารถหาเงินส่วนหนึ่งไปตามฝันในกิจกรรมเพื่อสังคม ผู้เขียนเริ่มเรียนรู้พฤติกรรมทางการเงินที่ดีจากพ่อแม่ตั้งแต่วัยเยาว์ และยืนยันว่าการออมสอนได้ตั้งแต่ยังเล็ก หากรอจนถึงวันที่ลูกของคุณได้รับเงินเดือนก้อนแรก ทุกอย่างอาจจะสายเกินไป!
วิธีการง่ายๆ ที่พ่อแม่ของผู้เขียนสอนให้รู้จักออมเงินนั้นมีหลักง่ายๆ ดังนี้
กระปุกออมสินอันแรก ในวันเกิดอายุ 6 ปี ผู้เขียนได้รับของขวัญวันเกิดเป็นกระปุกออมสินรูปหมูสีสันฉูดฉาด มีโน๊ตสั้นๆ จากแม่ที่เขียนว่า “แบ่งค่าขนมมาหยอดกระปุกนะจ๊ะ เมื่อเต็มแล้วเราจะไปเปิดบัญชีที่ธนาคารกัน” ในช่วงป. 1 ผู้เขียนได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 50 บาท เหลือมาหยอดกระปุกวันละ 10 บาทบ้าง 20 บาทบ้าง ใช้เวลาเกือบ 1 เทอม กระปุกก็เต็ม นับเงินออมแรกได้ประมาณ 1,200 บาท หลังจากนำเงินก้อนแรกไปเปิดบัญชีธนาคาร ผู้เขียนก็ได้รับการปลูกฝังนิสัยการออมที่ดีมาจนถึงปัจจุบัน
แบ่งเงินเป็นสัดส่วน พ่อแม่ควรสอนลูกให้แบ่งการใช้จ่ายเป็นสัดส่วน ได้แก่ เงินใช้จ่าย เงินออม และเงินแบ่งปันผู้อื่น เป็นต้น ในค่าขนม 50 บาทที่ผู้เขียนได้รับทุกวัน ผู้เขียนมักจะใช้ซื้อขนม 20 – 25 บาท กันไว้ซื้อของขวัญให้เพื่อนวันละ 10 บาท และเหลือหยอดกระปุก 10 – 20 บาททุกวัน การแบ่งเงินเป็นสัดส่วนนี้ช่วยให้ผู้เขียนไม่ใช้เงินเกินตัว และสร้างวินัยทางการเงินที่ดีจนถึงปัจจุบัน
รู้จักความแตกต่างระหว่างของใช้จำเป็นและของใช้ฟุ่มเฟือย ตามประสาเด็กคนนึง ผู้เขียนมีสิ่งที่อยากได้เป็นปกติ พ่อแม่ได้ปลูกฝังให้ผู้เขียนสามารถแยกแยะระหว่างของใช้จำเป็นและของใช้ฟุ่มเฟือย โดยของใช้จำเป็น คือ สิ่งที่เราต้องใช้ในการดำเนินชีวิตตามปกติทุกวัน เช่น ในการไปโรงเรียนผู้เขียนต้องใช้ดินสอ ยางลบ ในทางกลับกัน เสื้อผ้าสวยงามที่มีราคาแพงถูกจัดว่าเป็นของฟุ่มเฟือย โดยแม่ของผู้เขียนสอนว่าหากเราอยากได้สิ่งใดเป็นพิเศษ เราสามารถซื้อได้ แต่ต้องตั้งเป้าหมาย และออมเงินเพื่อซื้อ ซึ่งจะทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งที่ซื้อมา
ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เมื่อเด็กโตขึ้นหน่อย พ่อแม่ควรให้ลูกรู้จักทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตนเอง เพื่อให้ลูกเข้าใจว่าในแต่ละเดือนเขามีรายรับและมีรายจ่ายเท่าไร การทำบัญชีรายรับรายจ่ายนี้จะช่วยให้ลูกรู้จักการวางแผน และเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารเงินที่ดี
รู้จักหารายได้ของตนเอง เมื่อลูกสามารถช่วยตัวเองได้ และสามารถช่วยงานของพ่อแม่ได้ พ่อแม่สามารถเปิดโอกาสให้ลูกพัฒนาทักษะเป็นผู้ประกอบการตัวน้อย เช่น ช่วยพ่อแม่ขายของ ทำคุกกี้ไปขายญาติๆ สร้างรายได้ให้ตนเอง ในปัจจุบัน เด็กหลายๆ คนอยากประกอบอาชีพอิสระ หรือทำสตาร์ทอัพ การปลูกฝังให้ลูกเป็นผู้ประกอบการตัวน้อยอาจสร้างคุณค่าให้เขาอย่างมหาศาลในอนาคตก็ได้
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม คือการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี มีวินัยทางการเงินที่ดี เพราะลูกอาจไม่เป็นตามสิ่งที่คุณสอน แต่เขาจะเป็นตามสิ่งที่คุณเป็น
ผู้เขียน ชญาภา นาคะศิริ